ข้อมูลสัตว์


นกฮูก, นกเค้ากู่

นกฮูก, นกเค้ากู่ (Collared Scops-owl)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Otus lettia (Hodgson, 1836)

วงศ์ Strigidae

เป็นนกเค้า 1 ใน 20 ชนิดของไทย เป็นนกที่มีขนาดเล็ก ประมาณ 22 - 23 เซนติเมตร ปีกยาวประมาณ 16 เซนติเมตร หางสั้นประมาณ 10 เซนติเมตร ตัวเต็มวัย มีลำตัวสีน้ำตาลแกมสีเนื้อหรือสีน้ำตาลแกมเทา รอบคอมีแถบผีเสื้อ หน้าผากและคิ้วสีเนื้อหรือสีขาวแกมน้ำตาล ลำตัวด้านล่างมีลายจุด แต่มักไม่เด่นชัด ตาสีน้ำตาล บางตัวเป็นสีเหลือง ปากสีเทา ตัวไม่เต็มวัยลำตัวเป็นลายสีน้ำตาลแกมเทา ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ทำรังในโพรงต้นไม้ที่ยังมีชีวิต หรือตอไม้ตาย อาจเป็นโพรงไม้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือโพรงที่สัตว์อื่น เช่น กระรอก นกหัวขวาน นกโพระดก เจาะไว้ ภายในไม่มีวัสดุรองโพรง ไข่มีรูปร่างค่อนข้างกลม สีขาว วางไข่ครั้งละ 3 - 5 ฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมีย ช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อน ลูกนกแรกเกิดมีขนอุยปกคลุมลำตัวเล็กน้อย ช่วงแรกที่ลูกนกยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่นก   จะคอยหาอาหารมาป้อน โดยในช่วงแรกมันจะฉีกอาหารเป็นชิ้น ๆ แล้วป้อนลูก เมื่อลูกนกโตพอประมาณแล้ว มันจะทิ้งเหยื่อทั้งตัว ลงไปในโพรงรังให้ลูกนกฉีกกินเหยื่อเอาเอง เป็นการฝึกให้ลูกนกรู้จักการล่าจับเหยื่อ

นกเค้ากู่ เป็นสัตว์ผู้ล่ากลางคืน กินสัตว์แทบทุกกลุ่มที่โฉบจับได้ เช่น หนู นก กบ เขียด งู รวมไปถึงแมลงชนิดต่างๆ ด้วย นับเป็นตัวควบคุมประชากรสัตว์ในธรรมชาติที่ดีในระบบนิเวศ นกเค้ากู่มีขนปกคลุมตัวที่อ่อนนุ่ม ทำให้บินได้เงียบ และยังหมุนคอได้ถึง 270 องศา ปัจจุบันภัยคุกคามที่ทำให้นกเค้าลดจำนวนไปอย่างรวดเร็ว คือ พื้นที่อาศัยถูกทำลาย (พื้นที่ป่าไม้ลดลง) สัตว์ที่เป็นเหยื่อจำพวกหนู มักได้รับสารพิษจากพื้นที่การเกษตร นกเค้ากู่จึงพลอยได้รับพิษในอาหารตามห่วงโซ่อาหาร บางตัวที่ไม่ตายก็ส่งผลต่อความไม่สมบูรณ์ของการสืบพันธุ์ นอกจากนั้นก็ยังมีถูกไฟฟ้าช็อตจากการเกาะกับสายไฟ ถูกรถยนต์ชนบนถนน เนื่องจากต้องใช้ที่โล่งแจ้งซุ่มดู และโฉบจับเหยื่อ รวมถึงการจับลูกนกหรือนกตัวเต็มวัยไปขายเป็นสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

การกระจายพันธุ์ พบได้ทั่วประเทศ อาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าดงดิบเขา และทุ่งโล่ง ตั้งแต่ระดับพื้นล่างไปจนถึงความสูง 2,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล