พระแสงศรกำลังราม


พระแสงศรกำลังราม

ย้อนอดีตเมื่อวันที่ 17 มกราคม ร.ศ. 129 ตรงกับวันอังคาร เดือนยี่ แรม 3 ค่ำ (พ.ศ. 2453) หลวงพ่อรุ่ง แห่งวัดหนองตานวล (หนองสีนวล) อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วยนายตี่ และนายแบนลูกศิษย์ ได้ขี่ช้างจากวัดไปยังเขาชอนเดื่อ เพื่อหาสมุนไพร ได้พบศรสัมฤทธิ์โบราณ มีรูปลักษณะเป็นคันศร และ มีสายศรเป็นสัมฤทธิ์ ปลายคันศรเป็นรูปพญานาคราช 3 เศียร และได้พบลูกศรสัมฤทธิ์อีกด้วย ปลายลูกศร  เป็นรูปวชิระ ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  ทรงนำหลวงพ่อรุ่งและลูกศิษย์พร้อมศรโบราณ เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) พร้อมทั้งทูลเกล้าฯ ถวายศรโบราณ พระองค์ทรงพระราชทานนามศรนี้ว่า พระแสงศรกำลังราม”  และทรงนำมาใช้การประกอบพระราชพิธีหลวง พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ดังมีหลักฐานปรากฏใน พระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 28 หน้าที่ 37 ลงวันที่ 9 เมษายน ร.ศ. 130 พร้อมกันนี้บนยอดเขาชอนเดื่อ ของวนอุทยานถ้ำเพชร – ถ้ำทอง ยังพบการจารึกข้อความไว้บนศิลาหินอ่อน มีข้อความไว้ 3 แถว ระบุ ณ วันที่ 17 มกราคม ร.ศ. 129 ในรัชกาลสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระแสงศรกำลังราม ณ ที่นี้


พระแสงศรกำลังราม เป็นหนึ่งในพระแสงอัษฎาวุธ ประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นเนื้อสัมฤทธิ์ เก่าแก่ สง่า และงดงามยิ่ง เป็นของโบราณชิ้นสำคัญมาสู่พระบารมี  เมื่อครั้งต้นรัชกาล พระแสงศรกำลังรามนี้มีพร้อมทั้งลูกศรและคันศร ตามหลักฐานการค้นพบที่บันทึกไว้ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 28 ภาค 1 วันที่ 9 เมษายน รัตนโกสินทร ศก 130 หน้า 37 - 42 เรื่อง ธงพระกระบี่ธุชพระครุฑพาหน้อยแลพระแสงศรกำลังราม อธิบายความไว้ว่า พระอธิการรุ่ง  วัดหนองตานวล ท้องที่กิ่งอำเภอตากคลี อำเภอพยุหคีรี มณฑลนครสวรรค์ ได้คุมคนงานและช้างไปตัดไม้   ในดงหนองคันไถ ครั้นเมื่อ ณ วันอังคาร เดือนยี่ แรม 3 ค่ำ ตรงกับวันที่ 17 มกราคม รัตนโกสินทร ศก 129 พระอธิการรุ่งได้ใช้ให้นายตี่กับเด็กแบนซึ่งเป็นศิษย์ ไปหาใบตองกล้วยป่า เพื่อนำมามวนบุหรี่บนเขาชอนเดื่อ เมื่อทั้งสองถึงไหล่เขาพบว่ามีศิลา 2 ก้อนตั้งอยู่เคียงกัน นายตี่มองเห็นศีรษะนาคโผล่จากใบไม้ที่ร่วงสะสมอยู่ ในซอกศิลา เข้าใจว่าเป็นพระพุทธรูปจึงหยิบยกขึ้นมาดูเห็นเป็นศรทั้งคัน เมื่อเห็นเป็นเช่นนั้นเด็กแบนจึงทำการค้นหาที่ซอกศิลาต่อจึงพบลูกศรอีกลูกหนึ่ง ทั้งสองจึงนำศรและลูกศรที่พบ ถวายพระอธิการรุ่ง ในเวลานั้น  ขุนวิจารณ์พยุหพล ปลัดว่าการกิ่งอำเภอตาคลี กำลังเดินทางตรวจราชการในท้องที่ ได้ข่าวเรื่องศรจึงไปขอดูแล้วรายงานขึ้นไปยังมณฑลนครสวรรค์ พระยาศิริไชยบุรินทร์ (ศุข) ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการ  มณฑลนครสวรรค์ จึงได้พาพระอธิการรุ่ง นายตี่และเด็กแบน พร้อมด้วยศรเข้ามายังกรุงเทพ ฯ เพื่อทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ศรที่พบนี้มีลักษณะเป็นเครื่องสัมฤทธิ์ ศีรษะเปนนาคราช ๓ เศียรและลูกศรสัมฤทธิ์ มีขนนกสามใบ ปลายคมเป็นรูปวัชระ เป็นฝีมือโบราณอันประณีต ไม่มีรอยมือจับหรือสิ่งที่จะส่อให้เห็นว่าได้ทำขึ้นไว้สำหรับเทวรูปถือ สันนิษฐานว่าศรนี้น่าจะได้สร้างขึ้นไว้สำหรับการพิธี ตามลัทธิพราหมณ์โดยเฉพาะใช้ชุบน้ำทำน้ำมนต์หรือแช่งน้ำสาบานดังเช่นทำน้ำพระพิพัฒน์สัตยา การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้ของโบราณอันสำคัญมาสู่พระบารมี ภายในต้นปีแห่งรัชสมัย ทำให้ทรงรู้สึกปีติโสมนัสยิ่งนัก เปรียบดั่งได้ช้างเผือกซึ่งเป็นสิ่งหายาก เป็นสิ่งสำคัญ  เป็นสวัสดีมงคลมาสู่พระบรมราชวงศ์และสยามประเทศ ดังปรากฏอยู่ในลายพระราชหัตถเลขาที่มีถึง  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม รัตนโกสินทร ศก 129 ความว่า


การที่ได้แผ่นสัมฤทธิ์รูปกระบี่ธุช ครุฑพ่าห์จากนครไชยศรีซึ่งได้ให้ประกอบเปนธงกระบี่ธุช ครุฑพ่าห์ขึ้นแล้วนั้นอย่าง 1 กับการที่ได้ศรนี้อีกอย่าง 1 ทำให้หม่อมฉันรู้สึกปลื้ม อิ่มใจเปนอย่างยิ่ง รู้สึกว่าคล้าย ๆ ได้ช้างเผือก เปนอันเข้าใจดีว่าพระราชหฤทัยพระราชาธิบดีแต่ก่อน ๆ มาท่านจะทรงรู้สึกอย่างไร เมื่อมีช้างเผือกเพราะรู้อยู่ว่านับวันนั้นจะหายาก เข้าทุกที ได้เคยนึกเสียดายตงิด ๆ นี่ก็นับว่าเปนโชคดี เปนบุญนักหนาที่ได้ของสำคัญ ๆ  เช่น กระบี่ธุช ครุฑพ่าห์ และศรโบราณนี้มาภายใน ปีต้นแห่งรัชสมัย นับเปนสวัสดีมงคล  แก่ตัวหม่อมฉันและพระราชบรมวงษ์จักรี ทั้งสยามรัฐสีมาประชาชนที่หม่อมฉันนี้ได้รับภารเปนผู้ทำนุบำรุง ดูเหมือนมาเปนเครื่องเตือนใจให้รู้สึกหน้าที่ของตน ที่จะต้องแผ่อาณาแก่ประชาชนทั้งหลายในสยามรัฐ และจะต้องทำนุบำรุงให้ชาติดำเนินไปสู่ ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นให้ราษฎรได้รับความร่มเย็นเปนศุขทั่วกัน ให้ได้คงเปนใหญ่อยู่จริงสมนามแห่งชาติเรานี้ชั่วกัลปาวสาน