ข้อมูลพืช
แคสันติสุข

แคสันติสุข Santisukia kerrii (Barnett & Sandwith) Brummit
ชื่ออื่น แคผู้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ในวงศ์ Bignoniaceae ใบประกอบแบบขนนก ดอกช่อ มีดอกย่อยจำนวนมาก โคนกลีบดอกรูประฆังสีขาวอมชมพู ปลายกลีบหยักเว้าและย่น ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอก แห้งแล้วแตก เมล็ดแบนและมีปีกบาง ๆ ออกดอกเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ พบครั้งแรกที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474 โดยหมอคาร์ ชื่อสปีชีส์ตั้งเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ ส่วนชื่อสกุลตั้งเป็นเกียรติแก่ ศ.ดร. ธวัชชัย สันติสุข
ไม้ต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ แตกกิ่งต่ำระเกะระกะ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเป็นวงรอบกิ่ง วงละ 4 ช่อใบ ใบย่อย 4-7 คู่ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ขอบใบจักมนหรือเกือบเรียบ ดอกใหญ่ ออกเป็นช่อแตกแขนงตามปลายกิ่ง กลีบดอกติดกันคล้ายรูประฆัง ขอบกลีบย่นมาก ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอก โคนและปลายแหลม ตามผนังมีตุ่มเล็กๆ หนาแน่น เมื่อแห้งแตกเป็น 2 ซีก
เขตกระจายพันธุ์และถิ่นกำเนิด
พบในเขตจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ขอนแก่น ชอบขึ้นบนภูเขาหินปูนที่แห้งแล้งในป่าเบญจพรรณ หรือป่าละเมาะโปร่ง ระดับความสูง 50-200 เมตร ออกดอกและผลระหว่างเดือน มกราคม – มีนาคม
สถานภาพ
พืชถิ่นเดียว และพืชหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 15 เมตร กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดคล้าย ๆ รูประฆัง กลีบดอกสีขาวอมชมพูหรือสีชมพูเข้ม หลอดกลีบทรงกระบอก บานออกรูประฆัง ปากกว้าง
แคสันติสุขเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะในภาคเหนือตอนล่างที่จังหวัดนครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น สำรวจพบเพิ่มเติมที่จังหวัดเลย และภาคกลางที่จังหวัดสระบุรี ขึ้นกระจายห่าง ๆ บนเขาหินปูนเตี้ย ๆ แห้งแล้ง ที่ระดับความสูงประมาณ 50-400 เมตร
ที่วนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทองอำเภอตาคลีจังหวัดนครสวรรค์นั้น พบเป็นจำนวนมาก ออกดอกราวปลายเดือนมกราคมระเรื่อยมา แล้วแต่ปีไหนแล้งมากน้อยต่างกันไป ช้าบ้างเร็วบ้าง ห่างกันไม่เกินเดือน แต่ก็น่าเก็บสถิติว่าเป็นพืชที่เป็นดัชนีบอกดูกาลได้หรือไม่ เวลาออกดอกจะติดที่ปลายกิ่ง มีกลิ่นหอมอ่อนมาก เป็นไม้ประดับที่สวยยามแล้ง