ข้อมูลสัตว์


กุ้งถ้ำตาบอด

กุ้งเกียรติวงศ์ชัย หรือกุ้งถ้ำตาบอดนี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Theosbaena kiatwongchai n. sp. สำหรับที่มาของชื่อ "กุ้งเกียรติวงศ์ชัย" คือ ดร.ละออศรี เสนาะเมือง คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไรน้ำของประเทศไทย ได้นำตัวอย่างกุ้งที่พบไปตรวจสอบ และยืนยันว่า น่าจะเป็น New Record of Thailand กุ้งชนิดนี้เป็นชนิดใหม่ของโลก และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Theosbaena kiatwongchai n. sp. ซึ่งอ่านเป็นภาษาไทย ว่า ทีออสบีนา เกียรติวงศ์ชัย เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายดนัย เกียรติวงศ์ชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโสของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งในอดีตเมื่อปี พ.ศ.2536 – 2540 ท่านเป็นแกนนำชาวบ้านรอบเขาชอนเดื่อ ให้ร่วมแรงร่วมใจอนุรักษ์เขาขอนเดื่อไว้ (ท่าน ดร.ละออศรี เสนาะเมือง ขอหารือกับครูสุวรรณี พรหมประสิทธิ์ ในการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ควรใช้ชื่อใครในท้องถิ่นดี ครูสุวรรณี ได้หารือกลุ่มรักษ์ถ้ำเพชรฯ และท่านหัวหน้าวนอุทยานฯถ้ำเพชรฯ แล้ว ต่างพร้อมใจกันให้เกียรตินี้แด่ นายดนัย เกียรติวงศ์ชัย ที่ได้เป็นผู้นำอนุรักษ์เขาลูกนี้ไว้ให้เราได้เรียนรู้ได้ศึกษากันมากว่า 20 ปี) และขณะนี้ท่าน ดร.ละออศรี เสนาะเมือง ได้สรุปงานเผยแพร่ในระดับนานาชาติเรียบร้อยแล้ว โดยตีพิมพ์ลงในวารสาร ZOOTAXA ในนามชาวตาคลีจึงขอขอบพระคุณท่าน ดร.ละออศรี เสนาะเมือง เป็นอย่างสูงที่กรุณาตรวจสอบจนทำให้ได้พบกุ้งพันธุ์ใหม่ของโลก และทำให้ชาวตาคลีมีแรงบันดาลใจที่จะอนุรักษ์พื้นที่นี้ต่อไป

กุ้งชนิดใหม่ที่พบนี้ มีขนาดประมาณ 0.6 – 0.9 เซนติเมตร ลักษณะตาใส มองไม่เห็นลูกตา ลำตัวเป็นปล้องๆ ประมาณ 12 – 13 ปล้อง ใสมากจนเห็นทางเดินอาหารสีออกส้ม-น้ำตาลได้ชัดเจน มีหนวดเส้นสั้น 2 คู่ หนวดเส้นยาว ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร 1 คู่ ส่วนหัวเมื่อขยายดูคล้ายลักษณะหัวของปลาดุก ไม่มีกรีส่วนหาง มีอวัยวะคล้ายหนวดเส้นสั้นๆ 2 คู่ ซึ่งส่วนที่คล้ายหนวดที่หัวและที่หางนี้ มีขนเส้นสั้นๆ แทรกอยู่จำนวนมาก เวลาว่ายน้ำเส้นขนเหล่านี้จะพลิ้วไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนที่ของหนวดด้วย นอกจากนี้ ยังมีขาอยู่ในปล้องที่ถัดจากหัวปล้องละ 1 คู่ จำนวน 4 คู่



นายกมล วงศ์สุทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ และคณะท่านผู้บริหารโรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ครูสุวรรณี พรหมประสิทธิ์ ครูวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ได้พานักเรียนชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ จำนวน 3 คน คือ เด็กหญิงพัชรวีร์ จิตต์จำนงค์, เด็กหญิงปาจารีย์ วงษ์อรุณ และเด็กชายศักดิ์ศรณ์ ด้วงสั้น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/12 เข้าประกวดชุมนุมนักสัตววิทยารุ่นเยาว์ ซึ่งจัดโดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ SCG ที่อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี โดยทำกิจกรรม เรื่องกุ้งถ้ำตาบอด (Theosbaena kiatwongchai n. sp. Rogers & Sanoamuang) อ่านว่า ทีออสบีนา เกียรติวงศ์ชัย โดยนักเรียนได้รับรางวัลจากนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รองศาสตราจารย์ ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ทั้งนี้ กิจกรรมชุมนุมนักสัตววิทยาเรื่องกุ้งถ้ำตาบอดนี้ได้รับรางวัลถึง 2 รางวัล คือ โล่รางวัลชนะเลิศระดับประเทศสาขาชีวภาพ และ 2.รางวัลขวัญใจชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ พร้อมเงินรางวัลจำนวน 17,000 บาท


ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดงานชุมนุมวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ภาคเหนือ ขึ้นที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระหว่างวันที่ 17 – 19 สิงหาคม 2559 มีโรงเรียนต่างๆ ในภาคเหนือส่งนักเรียนนำผลงานเข้าประกวดกว่า 100 ชุมนุม อ.สุวรรณี พรหมประสิทธิ์ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์ นำเด็กนักเรียนรุ่นเยาว์ ได้นำ ด.ญ.ปาริฉัตร ทิมยิก ด.ญ.พรหมพร ศรรอด และ ด.ญ.พิชญาวี พงษ์สถิตย์พร นักเรียนสาขานักสัตววิทยารุ่นเยาว์ นำกุ้งพันธุ์ใหม่ (กุ้งตาบอดถ้ำ) ของโลกที่เพิ่งค้นพบ (กุ้งเกียรติวงศ์ชัย) ที่วนอุทยานถ้ำเพชรถ้ำทองตาคลี จำนวน 5 ตัว ใส่ขวดโหลเลี้ยงดูอย่างดี นำเข้าประกวดในครั้งนี้ ที่สนใจแก่นักเรียนและคณะกรรมการเป็นอย่างยิ่ง ผลการประกวดปรากฏว่า "กุ้งเกียรติวงศ์ชัย" ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับภาคเหนือ ในสาขานักสัตววิทยารุ่นเยาว์ โดยมี ผศ.ดร.มรกต สุกโชติรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภาคเหนือ เป็นผู้มอบรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณ

 

ที่มาของภาพและเรื่อง : กุ้งถ้ำตาบอด. สุวรรณี พรหมประสิทธิ์