ข้อมูลสัตว์


ลิงลม, นางอาย

ลิงลม, นางอาย (Slow loris)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Nycticebus coucang

วงศ์ Lorisidae

ลิงลมหรือนางอาย (Slow loris) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในกลุ่มลิง แต่มีขนาดเล็ก วัดความยาวลำตัวและหัว 30 - 38 เซนติเมตร ความยาวของหาง ประมาณ 1 - 2 เซนติเมตร ถ้าเรามองดูเผินๆ แล้วจะไม่เห็นหางของมันเลยจึงเข้าใจว่ามันไม่มีหาง ส่วนน้ำหนักประมาณ 1 - 2 กิโลกรัม ลักษณะหน้าตาจะมีหัวกลม ดวงตากลมโต รอบขอบตาสีดำเทา สันจมูกสีขาว ใบหูเล็กและสั้น รูปร่างจะอ้วนป้อม ลำตัวขนสีเหลืองอมน้ำตาลหรืออมเทา ด้านบนของหัวเรื่อยไปถึงสันหลังจะเป็นแนวสันเส้นสีน้ำตาลเข้มออกดำ ส่วนอกถึงใต้ท้องสีน้ำตาลจางๆ  แขนและขาสั้นแต่แข็งแรง นิ้วเท้านิ้วที่สองจะมีเล็บแหลมยาวและงองุ้ม ถ้าเป็นลิงลมทางภาคใต้ขนที่ตัวสีน้ำตาลแดงเข้มหรือออกดำ

ลิงลมหรือนางอาย อาศัยอยู่ในป่าหลายประเภท เช่น เบญจพรรณ ป่าดิบและป่าไผ่ พบปีนป่ายเชื่องช้าตามกิ่งไม้ที่หนาทึบ เมื่อมีลมพัดแรงมันจะขยับตัวเคลื่อนไหวได้เร็ว จึงถูกเรียกว่า “ลิงลม” และถ้ามันตกใจกลัวก็จะซบหน้าซุกไว้ในวงแขนจึงได้ชื่อเรียกอีกชื่อว่า “นางอาย” นั่นเอง ลิงลมหรือนางอายมักออกหากินตามลำพังในเวลากลางคืน บางครั้งอาจพบเป็นคู่ หรือพบทั้งพ่อ แม่และลูก ส่วนตอนกลางวันจะหลบหลับนอนอยู่ตามง่ามไม้กิ่งไม้ใหญ่ อาหารจะเป็นพวกแมลง ไข่นกบางชนิด จิ้งจก กิ้งก่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็ก ผลไม้บางชนิดและน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ลิงลมมักสร้างอาณาเขตของตัวเองด้วยการฉี่ทิ้งไว้ตามแหล่งอาศัยหากินของมัน  ลิงลมตัวเมียจะตั้งท้องนาน 90 - 193 วัน และออกลูกครั้งละ 1 ตัว บางทีนาน ๆ ครั้งจะพบว่าลิงลมออกลูกครั้งละ 2 ตัวได้ แม่ลิงลมจะเลี้ยงดูลูกประมาณ 6 - 9 เดือน เมื่อลูกโตเต็มวัยจึงแยกครัวจากไป

ในปัจจุบันจำนวนประชากรของลิงลมลดลงไปมาก จนอาจจะอยู่ในขั้นที่ใกล้สูญพันธุ์ได้ เนื่องจากมีการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย การนำเนื้อลิงลมปรุงเป็นยาสมุนไพร กินแล้วจะคลอดลูกง่ายไม่เจ็บปวด และบางคนก็จับมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง จึงมีการล่าลิงลมส่งไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง นักล่าบางคนมีความเชื่อว่าลิงลมเป็นตัวนำโชคร้าย ความอัปมงคลมาสู่ เมื่อเดินทางเข้าป่าแล้วไปพบลิงลมก่อนก็จะล่าสัตว์อื่นไม่ได้จึงยิงลิงลมทิ้งเสีย ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้ประชากรลิงลมลดน้อยลงไป 

พบลิงลมได้ทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย เกาะชวา เกาะบอร์เนียว เกาะสุมาตรา และ มินดาเนา พบได้ตลอดปีมีการกระจายพันธุ์ทั่วไป จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ข้อมูล; ปัญจพร ศรีบุญช่วย, ฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)